วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

กฎหมายควรรู้ [จริงๆน่ะ >o<]

อ้า... วันนี้กลับมาพร้อมความรู้เช่นเคย เราจะพูดถึงกฎหมายฝรั่งเศสกัน แต่เป็นคำศัพท์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องน่ะ แล้ววันหลังจะเล่าถึงกฎหมายล่ะกัน ^O^
ภาพวันนี้เป็นภาพที่เพื่อนๆคงรู้จักกันบ้าง นั้นก็คือภาพป้ายชื่อถนนชองป์เซลิเซ่ เห็นว่าเก๋ดี เลยเอามาใส่ ใครชอบก็เม้นกันมาน่ะจ๊ะ >o<

Abus (n.m) (กฎหมายทั่วไป) การละเมิด, การเอาเปรียบ หรือ กระทำเกินเหตุ
คำว่า abus หรือ action abusive หมายถึง การกระทำที่เกินเหตุ การละเมิด หรือ การเอาเปรียบ
เราจะพบคำนี้ได้ในหลายกรณี เช่น
abus du droit หมายถึง การใช้สิทธิเกินส่วน
abus de confiance หมายถึง การยักยอก
abus de domination หมายถึง การเอารัดเอาเปรียบโดยผู้ที่มีส่วนแบ่งในตลาดมากจนสามารถกำหนดทิศทางของตลาดนั้นๆได้ โดยหมายถึง การเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างคู่แข่งขันทางการค้า หรือ Abus de position dominante และการเอารัดเอาเปรียบลูกค้า หรือ ผู้ค้ารายย่อย โดยผู้ค้าส่ง หรือ Abus de dépendance économique
abus des biens sociaux หมายถึง การที่ผู้บริหารบริษัท นำทรัพย์สินของบริษัทไปใช้ในทางมิชอบ
clause abusive หมายถึง ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นต้น


Bien-être (n.m) สวัสดิการ (รัฐธรรมนูญ, กม. แรงงาน)
คำว่า bien être ตามปกติแล้วไม่ได้เป็นศัพท์เฉพาะทางกฎหมาย โดยจะหมายถึง ความกินดีอยู่ดี คำนี้เราจะพบบ่อยในทางเศรษฐกิจ
ในส่วนของวิชากฎหมาย เรามักจะพบคำนี้ได้ในกฎหมายแรงงาน โดยจะหมายถึง "สวัสดิการ" อย่างไรก็ดี โดยความหมายของ bien être หมายถึง สภาพความกินดีอยู่ดี อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น เมื่อ จะกล่าวว่านายจ้างให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง เรามักจะพบประโยคว่า L'employeur assure le bien-être de ses employés.
ตัวอย่างการใช้คำนี้ เราจะพบในบทนำของรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 4 ของประเทศฝรั่งเศสปี 1946 (
Préambule de la Constitution du 27 octobre 1946 de la IV République) ข้อ 17 ได้บัญญัติไว้ถึงการใช้ทรัพยากรและความพยายาม เพื่อพัฒนาประเทศ เพิ่มพูนความกินดีอยู่ดี (bien-être) และรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติ
(...ปัจจุบัน ประเทศฝรั่งเศสใช้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 5 ปี 1958 (Constitution de la V République du 4 octobre 1958) แต่บทนำของ รัฐธรรมนูญปี 1946 ยังคงถูกพิจารณาว่ามีศักดิ์เทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญอยู่...)

Bon père de famille วิญญูชน (กม.แพ่ง)
ศัพท์คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน Bonus pater familias ในสมัยโรมันนั้น พ่อ (หรือหัวหน้า) ที่ดีของครอบครัว เป็นผู้ที่จัดการบริหารทรัพย์สินของครอบครัว เป็นที่น่าสังเกตว่า ชายใดที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ก็ตาม จะไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเองตามกฎหมาย
ปัจจุบัน คำว่า bon père de famille ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายมาตราของฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวพันกับการเก็บรักษา บริหาร และจัดการทรัพย์สินของผู้อื่น ด้วยความระมัดระวัง เปรียบเสมือนเป็นทรัพย์สินของตัวเอง
เช่น ในมาตรา 1728 ของประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศส บัญญัติว่า ผู้เช่าทรัพย์ต้องใช้ทรัพย์ที่เช่าเยี่ยงวิญญูชนพึงปฏิบัติ หลักนี้ถูกใช้ในกรณีอื่นๆอีก ตามประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสเช่น การบริหารทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยผู้แทนโดยชอบธรรม (มาตรา 450) และการเก็บรักษาและใช้ทรัพย์ที่ยืมมา (มาตรา 1880) เป็นต้น
คำว่า bon père de famille ในบางกรณี อาจเทียบได้กับคำว่า l'homme raisonnable หรือ l'homme droit et avisé โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพูดถึงความรับผิดของผู้ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยไม่เจตนา


Retrait (n.m) ถอน (กม.ปกครอง)
คำว่า Retrait หมายถึง การถอนออก หรือการยกเลิก โดยมักใช้ในกรณีที่ฝ่ายบริหาร ยกเลิกคำสั่งทางปกครองของตนเอง เช่น เมื่อเราต้องการพูดว่า นายกเทศบาลได้ถอนใบอนุญาตการก่อสร้าง เราจะพูดได้ว่า Le maire a retiré le permis de construire.
นับตั้งแต่คำพิพากษาของ Conseil d'Etat, 26 octobre 2001, "Ternon" ฝ่ายบริหารสามารถถอนคำสั่งทางปกครองได้ภายใน 4 เดือนจากวันที่พิมพ์ประกาศคำสั่งนั้นๆ (เพิ่มระยะเวลาจากเดิม 2 เดือน) หลังจาก 4 เดือนแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียไม่สามารถจะร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิกคำสั่งนั้นๆโดยตรงได้ เนื่องจากจะถือว่าคำสั่งนั้นกลายเป็นคำสั่งถาวร หรือ L'acte est devenu définitif. อย่างไรก็ตาม หากในอนาคต ฝ่ายบริหารออกคำสั่งอื่นๆ ต่อเนื่องมาจากคำสั่งถาวร อันผิดกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องต่อศาลเพื่อให้ยกเลิกคำสั่งหลัง โดยอ้างว่าคำสั่งแรกไม่ชอบด้วยกฎหมายได้

นอกจากนั้น คำสั่งเฉพาะตัวอันไม่สร้างสิทธิ์กับตัวผู้รับคำสั่งนั้น ผู้รับคำสั่งสามารถร้องต่อศาลเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งนั้นได้ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา

Annulation (n.f.) ยกเลิก (กม.ทั่วไป กม.แพ่ง)
Annulation หรือ การยกเลิก มักใช้เพื่อกล่าวถึงการที่ศาลตัดสินยกเลิกนิติกรรมต่างๆ เนื่องจากนิติกรรมนั้นๆ มีเหตุอันทำให้เป็นโมฆะ คำว่า โมฆะ หรือ nullité ในกฎหมายฝรั่งเศสจะต่างจากกฎหมายไทยโดย nullité มี 2 ประเภท คือ

1. nullité absolue โดยผู้มีส่วนได้เสียทุกคน รวมถึงผู้พิพากษาสามารถยกขึ้นมาอ้างเป็นเหตุในการให้ยกเลิกนิติกรรมได้ เช่น เมื่อผู้เยาว์ (mineur) หรือ ผู้ไร้ความสามารถ (incapable majeur) ทำนิติกรรมสัญญา
2. nullité relative ซึ่งเฉพาะผู้เสียหายจากเหตุนั้นๆเท่านั้น จะสามารถอ้างเหตุนั้นได้ หากไม่ได้อ้าง ศาลก็ไม่สามารถยกขึ้นมาเป็นเหตุยกเลิกนิติกรรมได้ เช่น การสำคัญผิดในสาระสำคัญ (erreur sur la qualité essentielle) เป็นต้นสามารถมีเหตุมาจากการที่ผู้ทำสัญญาเป็นผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถ ก็ได้
การเป็นโมฆะ หรือ nullité ก่อให้เกิดผลย้อนหลัง หรือ effet rétroactif โดยจะกลับไปสู่สถานการณ์ ก่อนเกิด นิติกรรมนั้นๆ เช่น หากสัญญาซื้อขายถูกยกเลิก ผู้ซื้อจะต้องคืนของที่ซื้อแก่ผู้ขาย และผู้ขายจะต้องคืนเงินแก่ผู้ซื้อ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: